วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว


1. มั่นใจในตัวเองมากเกินไป
ความมั่นใจในการทำอะไรซักอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามั่นใจมากเกินไปอาจจะส่งผลเสียได้ เพราะคนๆ นั้น จะละเลยความเสี่ยงบางอย่างที่ต้องเผชิญ และกลายเป็นคนที่มองเหรียญเพียงด้านเดียว

2. กำจัดทุกคนที่ขวางทาง
ในแง่ของความขัดแย้งกับผู้ร่วมงานของคุณ ขอให้คุณพูดคุยกันด้วยเหตุผล และให้เห็นประโยชน์ของธุรกิจเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่จ้องแต่จะพูดเพื่อเอาชนะผู้ร่วมงานของคุณอย่างเดียว

3. อย่าทำให้ตัวคุณเป็นระบบเสียเอง
การสร้างธุรกิจ คือ การสร้างระบบขึ้นมา เพื่อให้กิจการมันเดินได้ด้วยตัวเอง ถ้าคุณกังวลไปเสียทุกอย่าง และไม่มอบหมายกระจายงาน และอำนาจในการตัดสินใจไปให้กับ ลูกน้องของคุณเลย นำเอาทุกสิ่งทุกอย่างมารวมศูนย์ไว้ที่ตัวคุณเอง มันก็ไม่ต่างอะไรกับ การที่คุณเป็นตัวระบบเสียเอง เหมือนกับ อาชีพอิสระ ที่คุณห้ามป่วย ห้ามพักผ่อน และ ห้ามตาย ไม่งั้นธุรกิจก็ไม่สามารถเดินได้

4. ประมาท
นักธุรกิจหลายคน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้นำตลาด มักจะประมาทคู่แข่งขัน และมองว่า สินค้าของคู่แข่งขัน ด้อยกว่า
ตอบโจทย์ผู้บริโภคไม่ได้ และไม่ใช่คู่มือของธุรกิจตน
แต่ประวัติศาสตร์การทำธุรกิจ ได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการดำเนินธุรกิจ เช่น เมื่อ Apple เข้ามาสู่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ในปี 1976 บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ ต่างคิดว่าคงไม่มีใครอยากมีคอมพิวเตอร์ไว้ที่บ้าน
แต่ Apple ก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าจริงๆ แล้ว คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล นั้นเป็นตลาดที่ีขนาดใหญ่มาก และทุกคนก็อยากได้มาไว้ที่บ้าน ไม่ใช่แค่มีใช้ที่ทำงานเท่านั้น ทำให้ DEC ที่เคยเป็นบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกต้องเลิกกิจการไป

5. ยึดติดกับความสำเร็จเดิม และไม่เรียนรู้สิ่งใหม่
ทุกสิ่งทุกอย่างในเส้นทางธุรกิจของคุณ เริ่มต้นจากคุณ อยากทำธุรกิจส่วนตัว และสร้างธุรกิจมาได้จนสำเร็จ แต่ทุกสิ่งไม่ได้จบลงเพียงแค่ขั้นตอนการสร้างธุรกิจเท่านั้น เมื่อสร้างมาได้แล้ว ก็จำเป็นต้องรักษาให้มันอยู่รอดต่อไปได้ด้วย
หลายต่อหลายครั้ง ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้นักธุรกิจบางคนเหลิง และคิดว่าแค่ใช้วิธีเดิมๆ ก็ดีพอแล้ว จึงไม่ยอมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก

ที่มา : SMEs news

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เคล็ดลับ 10 ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน


               กำหนดวัน Earth Day  ในวันที่ 22 เมษายนใกล้เข้ามาอีกครั้งแล้ว มาช่วยกันย้ำเตือนว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานั้นเปราะบางและเสี่ยงต่อการถูก ทำลายจากภาวะการขยายตัวของก๊าซโลกร้อนมากแค่ไหน  พวกเราทุกคนต่างมีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างโลกใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมาดูกันว่าเราจะช่วยกันสร้างออฟฟิศที่ทำงานสีเขียวประหยัดไฟและรักษาสิ่ง แวดล้อมกันได้อย่างไร


               ซีเอ เทคโนโลยี มี 10 เคล็ดลับใส่ใจสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานมานำเสนอกัน
               1.ทราบหรือไม่ว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กอยู่ก็กินไฟด้วยเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า เวลาไม่ใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เราตัดกระแสไฟออกจากปลั๊กด้วยจะดีกว่า
               2.การใช้กระดาษในแถบเอเชียคิดเป็นจำนวน 44%  ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งชองการบริโภครวมทั่วโลก หันมาลองใช้งานแบบไร้กระดาษด้วยการใช้แท็บเล็ตจะได้ไม่ต้องพิมพ์งานออกมา และถ้าต้องพิมพ์ก็ให้พรินต์ลงบนหน้ากระดาษทั้งสองหน้า  รวมทั้งนำมารีไซเคิลด้วย  ส่วนงานพรินต์ก็ควรใช้ฟอนต์ที่ประหยัดที่ใช้หมึกน้อยลง และลดค่าใช้จ่ายการพิมพ์ลงมา หรือพิมพ์ให้ตัวอักษรเล็กลงเวลาที่จะพรินต์งานบนหน้ากระดาษ
               3.ทราบหรือไม่ว่า พลังงานที่ประหยัดได้จากการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมแต่ละใบ เมื่อเทียบกับการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมขึ้นมาใหม่จากแร่วัตถุดิบจะเป็น พลังงานที่มากพอที่จะใช้เปิดทีวีดูได้นานถึง 3 ชั่วโมง? ลองมาช่วยกันรีไซเคิลกระป๋องเครื่องดื่มกันดีกว่า
               4.ทราบหรือไม่ว่าเครื่องปรับอากาศจะใช้งานไฟฟ้าคิดเป็นส่วนใหญ่ของไฟที่ เปลืองไปในอาคารสำนักงานและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมาลองดูตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น เครื่องปรับอากาศ คือ ค่าพลังงานกว่า  60% ของค่าไฟฟ้าตามสำนักงานในประเทศสิงคโปร์  ถ้าจะช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ตั้งอุณหภูมิปรับอากาศของออฟฟิศไว้ที่ 25°C เพราะว่าทุกๆ องศาที่ต่ำลงไปกว่านี้จะเพิ่มค่าใช้จ่ายอีก10% และใช้พลังงานเพิ่มขึ้น
               5.ในแต่ละปี จะมีต้นไม้กว่า 3.8 ล้านต้นถูกโค่นลงเพื่อผลิตตะเกียบแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนกว่า 5 หมื่น 7 พันล้านคู่ในประเทศจีน ซึ่งคุณสามารถช่วยกันลดจำนวนของเหลือทิ้งได้ด้วยการนำเอาเครื่องใช้ในการทาน อาหารพกติดตัวมาเอง ลดจำนวนของเสียที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยการออกไปทานข้าวข้างนอก แทนที่จะสั่งดิลิเวอร์รี่มาทาน และถ้าหากจำเป็นต้องทานนอกสถานที่ ควรใช้บรรจุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกแทนที่จะเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง
              6.ทราบหรือไม่ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกผลิตก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์เฉลี่ย แล้ว  4  ตันต่อคน ต่อปี? มาช่วยลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนด้วยการเปลี่ยนวิธีการไปทำงานในแต่ละวัน เช่นมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนที่จะขับรถไปเอง หรือมาใช้วิธีการแชร์รถนั่งกับเพื่อนร่วมงาน  หรือลองใช้วิธีติดต่อกันแบบวิดีโอคอนเฟรนซ์แทนที่จะบินข้ามประเทศไปพบหน้า ลูกค้า พาร์ตเนอร์ และเพื่อนร่วมงาน
               7.ต้องใช้น้ำมัน 3 ลิตรกับโลหะและพลาสติกกว่า 1 กก.ถึงจะผลิตตลับหมึกพรินเตอร์ใหม่เอี่ยมขึ้นมาได้หนึ่งอัน มาช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการรีไซเคิลตลับหมึกพวกนี้กัน เท่ากับว่าแต่ละตลับที่เราช่วยกันจะทำให้เราประหยัดน้ำมันไปครึ่งนึง และไม่เพิ่มขยะพลาสติกและโลหะอีกหนึ่งกิโล ซึ่งกว่าขยะพวกนี้จะย่อยสลายได้ก็ต้องใช้เวลาเป็นพันปีเป็นอย่างน้อย
               8.ทราบหรือไม่ว่าหลอดไฟ LED จะใช้งานได้ยาวนานกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ถึง10 เท่าและยิ่งใช้งานได้นานกว่าพวกหลอดไส้แบบเก่า  ทราบแบบนี้แล้วลองหันมาประหยัดพลังงานด้วยการเปลี่ยนการใช้งานหลอดไฟให้กับ ออฟฟิศสำนักงานของคุณดูบ้าง
               9.ทราบหรือไม่ว่า ในแต่ละปีมีปากกากว่า 1 หมื่นล้านด้ามถูกโยนทิ้งทั่วโลกมาช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยการเลือกปากกาที่เติมน้ำหมึกได้ หรือเลือกซื้อปากกาที่ทำจากวัสดุพลาสติกที่ย่อยสลายได้
               10.สารทำความสะอาดเชิงพาณิชย์จำนวนมากเช่น สบู่ หรือสารทำความสะอาดพื้นนั้นไม่เป็นมิตรต่อธรรมชาติทั้งในแง่เรื่องบรรจุ ภัณฑ์ที่ใช้ และคุณสมบัติการย่อยสลาย นอกจากนี้ยังมักจะมีสารพิษที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา ผิวหนังและทางเดินหายใจได้  มาช่วยกันปกป้องโลกเราด้วยการสนับสนุนการใช้งานผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อมในออฟฟิศของคุณ!
ที่มา : www.dailynews.co.th


วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

กฏทั้ง 15 ข้อของการพัฒนาจิตแบบไม่สวยหรูแต่ใช้ได้จริง


1. ยอมรับในความเลวของตน อย่างเป็นกลาง เพราะเราไม่อาจแก้ไขจิตใจให้ดีขึ้นได้เลย หากมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นปัญหา กิเลสตัวใดที่มีมาก จงลากไส้มันออกมาให้เห็นกันจะๆ จากนั้นจึงเฝ้าระวังไม่ให้มันออกมาวาดลวดลายจนทำให้เรา และผู้อื่นเดือดร้อน

2. ตั้งใจว่า จากนี้เป็นต้นไป จะจัดการกับความชั่วร้ายของตนเอง ไม่จำเป็นต้องรีบจัดการ แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน สำรวจตนเองทุกวันว่า จิตใจของเราได้รับการขัดเกลาไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว จะต้องทำทุกวัน ดีขึ้นทุกวัน ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องเปรียบเทียบตัวเองกับใคร ขอให้รู้ในความเลวของตนแล้วขัดเกลาไปเรื่อยๆ ทำเท่าที่ทำได้ อย่าให้เกิดความอึดอัด ขอให้ทำแต่พอดี แต่ต้องทำตลอดไป

3. ระหว่างที่จิตใจยังคิดชั่ว ยังควบคุมให้คิดดีไม่ได้ ให้ควบคุมกาย และวาจา ด้วยการถือศีล เพราะศีลเปรียบเหมือนเกาะป้องกันไม่ให้เราไปเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น ในขั้นตอนนี้ อย่าเพิ่งไปสนใจว่า จิตจะดีหรือไม่อย่างไร ในขั้นแรก ควบคุมการกระทำ และคำพูดของเราให้ได้ก่อนเป็นพอ

4. ยุติการวิพากษณ์วิจารณ์ผู้อื่นโดยเด็ดขาด เพราะการกระทำเช่นนั้น เป็นการยั่วกิเลสของเราให้พุ่งพลาน เป็นการป้อนอาหารให้ความเลวของตนเองเติบโต เขาจะดี จะเลวอย่างไรเป็นเรื่องของเขา เราสนใจในความดีเลวของตนเองเป็นพอ

5. เชื่อในกฏแห่งกรรมอย่างเคร่งครัด ต้องเข้าใจว่า กรรมทุกอย่างย่อมให้ผลเสมอ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ย่อมส่งผลอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงไม่มีความบังเอิญอยู่บนโลก ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราทำสิ่งใดย่อมได้รับผลกรรมตามนั้น อย่าพยายามทำความเลวให้เกิดขึ้น พยายามทำแต่ความดีให้มากที่สุด

6. พยายามคิดว่าทุกคนคือเพื่อน คือคนที่เสมอเท่าเทียมกับเรา ให้มองผู้อื่นด้วยความเมตตาให้มากที่สุด ทำลายทัศนคติในการแบ่งเขา แบ่งเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

7. เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้น ขอให้น้อมเข้ามาพิจารณาว่า ทุกอย่างล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรนอกเหนือจากนั้น ทั้งเรื่องของความรู้สึกที่เป็นนามธรรม หรือเรื่องของวัตถุธาตุที่จับต้องได้

8. จงทำความเข้าใจว่า ชีวิตมนุษย์ ล้วนต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย ทำความเข้าใจให้มากว่า เราไม่ได้อยู่บนโลกนี้ตลอดไป วันหนึ่ง เราต้องตาย แล้วเราจะเอาอะไรไปไม่ได้ นอกจาก ความดี และความเลวที่ทำไว้

9. ทำความเข้าใจในสภาพความจริงของการเวี่ยนว่ายตายเกิด โดยขอให้มีความเข้าใจอันแน่นหนาว่า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุอรหันต์ เราก็ยังต้องเวี่ยนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุด ต้องมีชีวิตทุกข์บ้าง สุขบ้าง วนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป และนรก สวรรค์ ล้วนเป็นภพภูมิที่มีอยู่จริง

10. พยายามสละสิ่งของ วัตถุ เพื่อสร้างอุปนิสัยของความเสียสละ หมั่นบริจาคทาน สงเคราะห์ผู้อื่นอยู่เสมอ ขอให้คิดว่าสิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องที่ว่างๆ ค่อยทำ ให้รู้ว่าเป็นขั้นตอนอันสำคัญที่จะช่วยให้เราเป็นคนไม่ยึดมั่นถือมัน และมีจิตใจเมตตาง่ายขึ้น

11. หมั่นทำจิตใจของตนให้สงบนิ่งอยู่เสมอ ด้วยการฝึกสมาธิ ขอให้คิดว่า ความสงบนี้เป็นเรื่องจำเป็นของชีวิต และต้องเข้าใจว่า จิตใจจะสงบได้ จิตของเราจำเป็นต้องได้รับการฝึก ความสงบไม่อาจเกิดขึ้นมาเองได้ ดังนั้น การทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาจิตของเราให้ก้าวหน้า

12. เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับชีวิต พยายามน้อมมาสอนใจตนว่า ความทุกข์เกิดจากอะไร จนกระทั้งเห็นจริงว่า ความทุกข์นั้นมีที่มาจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ขอให้น้อมเข้ามาพิจารณาซ้ำๆ อยู่เสมอ จนกระทั้งเป็นที่ประจักษ์แก่ตนเองในความจริงดังกล่าว

13. หมั่นไหว้พระ สวดมนต์ เพื่อให้จิตใจของตนเองยึดมั่นในพระรัตนตรัย ไม่ลังเลสงสัยในคำสั่งสอน ขอให้คิดว่า เราจะดำเนินชีวิตตามแนวทางที่ประเสริฐที่สุด นั่นคือใช้ภูมิปัญญาของบุคคลที่ฉลาดที่สุดในโลก ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้า ท่านว่าอย่างไร เราทำอย่างนั้น ปรับทัศนคติของเราให้ตรงกับท่านอย่าคิดหาทางลัดด้วยตนเองเด็ดขาด ขอให้พาตัวเองไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดี คบคนดี ไม่คบคนพาล อ่านหนังสือที่ดี เสพความรู้ที่ดี ที่เพิ่มพูนศีลธรรม อย่ารับบุคคล สื่อ หรือสิ่งเร้าใดๆ ที่เป็นการยั่วกิเลสให้เพิ่มพูนเด็ดขาด

14. เมื่อจำเป็นต้องแก้ปัญหา ขอให้แก้ปัญหาภายในก่อน นั่นคือแก้ที่ตนเอง ขอให้เปลี่ยนตนเองก่อน มองความผิดของตนเองก่อน เมื่อเกิดสิ่งเข้ามากระทบ ขอให้เพ่งเล็งมาที่ความผิดของตนเอง อย่าเพ่งเล็งไปที่ความผิดของผู้อื่นเด็ดขาด ตรงนี้จะทำให้ไม่เกิดความเกลียดชังในจิตใจ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ตนเองรู้จักผิดชอบชั่วดี มีความเมตตาต่อผู่อื่น รู้จักละอายต่อบาปกรรม

15. เมื่อต้องการวัดผลการปฏิบัติของตน ขอให้วัดที่ชีวิตประจำวัน คือดูว่า ตนเองเป็นคนดีขึ้นหรือเปล่า ตรงนี้ต้องระวัง อย่าคิดเข้าข้างตนเองเด็ดขาด ขอให้มองอย่างเป็นกลางด้วยความสุจริตใจ ให้สำรวจดูว่า โลภ โกรธ หลงน้อยลงแค่ไหน มีเมตตามากขึ้นแค่ไหน ให้อภัยได้มากแค่ไหน ขอให้ใช้ตรงนี้เป็นเครื่องวัดความดีเลวของตนเป็นสำคัญ ส่วนด้านปัญญานั้น ขอให้วัดว่า ทุกวันนี้มีทุกข์น้อยลงหรือไม่อย่างไร ถ้าทุกข์มากแปลว่า เรายังไม่เข้าใจโลก ถ้าทุกข์น้อย แปลว่าเราเริ่มมีความเข้าใจต่อโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น ขอให้ยอมรับไปตรงๆว่า สุขหรือทุกข์ ล้วนเกิดขึ้นจากปัญญาของเรา ไม่ได้เกิดจากผู้อื่น และไม่มีใครสามารถยัดเยียดความสุขความทุกข์แก่เราได้นอกจากตัวของเราเอง

กฏทั้ง 15 ข้อนี้คือสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำในเบื้องตน เป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานความจริงซึ่งสามารถทำได้ถ้ามีความตั้งใจ สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาจิตเพื่อลดทอน หรือยุติชาติภพ ถ้าจะพูดถึงการทำสมถะ ผู้ที่ทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ไปทำสมถะไม่นาน จิตก็จะรวมใหญ่ ทำให้เกิดฌานได้อย่างง่ายดาย ต่อเมื่อไปทำวิปัสสนา จิตก็จะพิจารณาความจริงได้อย่างแยบคาย เพราะเป็นจิตที่คู่ควรกับการเจริญปัญญา ในการปฏิบัติทั้ง 15 ข้อนี้ หากใครทำได้ด้วยใจที่เบิกบาน ก็สามารถพูดได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่บุคคลผู้นั้นจะบรรลุเป็นอริยบุคคลในชาติปัจจุบัน...

พศิน อินทรวงค์













วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทำงานแบบมืออาชีพ

     มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ทำงานโดยต้องทำทั้งในสิ่งที่ตนถนัดและไม่ถนัด  โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของอาชีพคนส่วนใหญ่อาจจะมีโอกาสทำในสิ่งที่ถนัดน้อยกว่าสิ่งที่ไม่ถนัดเพราะเราไม่มีโอกาสเลือกมากนัก  คนส่วนใหญ่เริ่มต้นทำงานโดยขอให้ได้งานก่อนซึ่งก็มีเหตุผลเพื่อความอยู่รอด 

หลังจากคุณมีประสบการณ์ระยะหนึ่งคุณก็จะเริ่มรู้จักและเข้าใจตนเองมากขึ้น  หลังจากนั้นจึงเริ่มที่จะมองหางานหรือโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ตนเองถนัดมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในช่วงสามปีแรกจึงน่าจะเป็นช่วงที่เราค้นหาตนเอง  อย่างไรก็ตามการที่เราจะได้ทำในสิ่งที่เราถนัดนั้นก็ต่อเมื่อมีคนหยิบยื่นโอกาสนั้นให้เรา  แต่ว่าโอกาสอาจจะมาหรือไม่ก็ต้องเดินเข้าหามัน  ดังนั้นเป้าหมายในการทำงานในช่วงต้นคือการสร้างโอกาสให้ตนเองมากกว่าที่จะทำในสิ่งที่ตนเองรักหรือถนัด  เทคนิคเหล่านี้น่าจะช่วยสร้างโอกาสให้คุณได้

ทำงานทุกอย่างที่เราได้รับมอบหมายให้เต็มที่  เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่เราจะค้นพบว่าเราถนัดหรือไม่ถนัดอะไร  หากเป็นงานที่ถนัดเมื่อเราทำเต็มที่ผลงานมันจะดีกว่าคนส่วนใหญ่หรือค่าเฉลี่ย  หากเป็นงานที่เราไม่ถนัดแม้ว่าจะทุ่มเทอย่างเต็มที่แล้วก็ตามผลลัพธ์อาจจะแค่พอใช้ได้หรือตำ่กว่าค่าเฉลี่ย  อย่าเสียกำลังใจเพราะว่าเราเกิดมามีความถนัดไม่เหมือนกัน  แต่ว่าอย่าทำงานที่ไม่ถนัดแบบ “ขอไปที” เพราะว่ามันจะทำให้คุณดูยิ่งแย่กว่าคนส่วนใหญ่
ทำในสิ่งที่ถนัดให้ดีที่สุดให้มากที่สุด  เพราะจะสร้างโอกาสที่ผลงานของเราไปเข้าตาคนอื่น  นอกเหนือจากงานประจำแล้วให้มองหาโอกาสที่จะอาสาขอทำงานที่ถนัดนอกสังกัดหรือนอกเหนือความรับผิดชอบ  ซึ่งอาจจะหมายถึงการทำงานล่วงเวลาโดยไม่เบิกค่าล่วงเวลา  หรือทำงานในวันหยุด
ทำในสิ่งที่ไม่ถนัดให้เต็มที่  มีคำพูดว่า “มืออาชีพคือคนที่ทำงานให้ดีที่สุดแม้ขณะที่เขาทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบก็ตาม” (“A professional is someone who can do his best work when he doesn’t feel like it.” - Alfred Alistair Cooke)  เพราะว่าหากนายหรือคนที่มีอำนาจคนอื่นเขาเห็นว่าขนาดสิ่งที่คุณไม่ถนัดคุณยังพยายามเต็มที่แสดงว่าคุณเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูงคนหนึ่ง
มีวุฒิภาวะสูง  ไม่บ่นเมื่อมีปัญหาแต่มองหาทางแก้ปัญหา  ไม่ตำหนิคนอื่นเมื่อเกิดข้อผิดพลาดแต่มองตนเองก่อนว่าเราน่าจะมีส่วนเป็นสาเหตุได้อย่างไรบ้าง  มองโลกในแง่ดี  ไม่นินาทาคนอื่นลับหลัง  รู้จักที่จะบริหารอัตตาของตนเองไม่ให้มีมากเกินความเป็นจริง
ใฝ่รู้  ไม่ว่าคุณจะจบการศึกษาสูงเท่าไรก็ตามเมื่อคุณเริ่มงานใหม่ในที่ใดก็ตามคุณต้องเรียนรู้ใหม่มากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเนื้องาน  วัฒนธรรมองค์กร  เรื่องการทำงานกับคนใหม่ๆที่คุณไม่รู้จัก  อย่าหวังว่าใครจะมาสอนคุณ  คุณต้องขวนขวาย  ทำการบ้านก่อนไปเริ่มงานโดยศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลของคน องค์กร และอุตสาหกรรมที่คุณอยู่ก่อนไปเริ่มงาน  เมื่อไปเริ่มงานแล้วสังเกต ถาม ฟัง อ่าน  และทำงาน  การเรียนรู้ที่ดีที่สุดในการทำงานคือ “การลงมือทำงาน”  อาสา  ของาน  อย่าอยู่เฉย  อย่าเกี่ยง  ยิ่งคุณจบสูงคนยิ่งไม่กล้าใช้งานคุณคุณต้องเสนอตัว นอบน้อม และเต็มใจทำงานได้ทุกอย่าง  หากคุณต้องถ่ายเอกสารก็ขอให้เป็นการถ่ายเอกสารที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่นายคุณเคยเห็นมา


โดย Kriengsak Niratpattanasai

เริ่มต้นทำธุรกิจ

เริ่มต้นทำธุรกิจ ด้วยแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

      มีหลายท่านที่ปรึกษากับผมว่า “อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง แต่มีเงินทุนไม่มากนัก จะลงทุนทำธุรกิจอะไรดี?” ผมมักจะถามกลับเสมอว่า แล้วตอนนี้มีความสนใจในธุรกิจอะไรอยู่ ทำไมถึงสนใจในธุรกิจนี้ และเรามีความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติของการทำธุรกิจประเภทนี้ดีพอหรือยัง คุยกันไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็มาถึงคำถามที่ผมมักจะถูกถามเสมอว่า “แล้วจะเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างไรดี ?”

               มีตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองมาก มาย และก็มีตัวอย่างอีกมากมายที่ธุรกิจไม่สามารถเติบโตต่อไปได้เกินกว่าช่วงเวลา 2-3 ปีแรก คำถามคือ อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจที่พึ่งเริ่มต้นขึ้นต้องสิ้นสุด ลง

               คำตอบส่วนใหญ่ที่พบได้คือ การขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุน มีต้นทุน ค่าใช้จ่าย สูงกว่ารายได้ เงินทุนสำรองเริ่มหมดไป บางรายนำเงินทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ มีเงินลงทุนจมไปกับสินทรัพย์ที่เกินความพอดีในการทำธุรกิจ

               ผมขอยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการรายหนึ่ง ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากธนาคารในการก่อสร้างอาคารโรงงาน ซื้อเครื่องจักร และเป็นเงินเบิกเกินบัญชี (O/D Over Draft) เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เงินทุนที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมจากธนาคารถูกใช้ไปในการเริ่มต้นธุรกิจตาม แผนธุรกิจที่ได้เสนอธนาคารไว้ แต่ก็มีเงินทุนอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกใช้ไปในการซื้อสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้ เกิดรายได้อย่างคุ้มค่า เช่น รถยนต์ยุโรปหรูราคาแพง การตบแต่งห้องทำงานของผู้บริหารด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตบแต่งราคาแพง ด้วยเหตุผลว่า เพื่อเป็นหน้าตาและสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจ เงินที่ควรถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเงินทุนสำรองในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจที่ยังไม่ มีรายรับมากพอ เหลือลดน้อยลง จำเป็นต้องหากู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ในแต่ละเดือนธุรกิจแห่งนี้ต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงมาก ทั้งที่เป็นดอกเบี้ยของธนาคารและแหล่งเงินทุนอื่น สุดท้ายธุรกิจนี้ต้องปิดตัวลงในช่วงเวลาเพียงแค่ 3 ปี

               ผู้ประกอบการอีกราย มีเงินทุนอยู่จำนวนหนึ่ง ได้ลงทุนทำธุรกิจประเภทเดียวกันกับผู้ประกอบการรายแรก แต่ใช้วิธีการเช่าอาคารเพื่อทำเป็นโรงงาน และเช่าซื้อเครื่องจักร แทนการใช้เงินลงทุนซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ ซึ่งทำให้เงินทุนที่มีอยู่ไม่จมไปกับการลงทุนในช่วงเริ่มต้น  และค่อยๆ ดำเนินธุรกิจไปทีละเล็กละน้อยอย่างระมัดระวัง ตามกำลังเงินทุนที่มี ผ่านมาแล้วเป็นเวลาสิบกว่าปี วันนี้ผู้ประกอบการรายนี้ มีที่ดินและโรงงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง มีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ และมีรายได้ปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท





อะไรคือความแตกต่างของผู้ประกอบการทั้งสองราย ?

               ทุกท่านคงเคยได้ยิน ได้อ่าน “แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความ เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

               ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชา ชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

               ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงปรับปรุงพระราชทานเป็นที่มาของนิยาม “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” ที่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยความ “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” บนเงื่อนไข “ความรู้” และ “คุณธรรม”

               การเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการดำเนินธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท

ความพอประมาณ
               หมายถึง ความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น เมื่อเราเริ่มต้นทำธุรกิจ เราอาจคิดว่าต้องทำให้ใหญ่ ทำให้อลังการ ถ้าอยากจะรวย อยากจะดูดีในสายตาของลูกค้า หรือ เพื่อนสนิท ญาติพี่น้อง แต่ในความใหญ่โตอลังการนั้น เป็นการลงทุนที่เกินตัวหรือไม่  เราต้องไตร่ตรองว่าอะไรคือความพอดี เช่น การซื้อสินค้า หรือวัตถุดิบ ต้องคำนึงถึงความพอดี ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป เราต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้า หรือ วัตถุดิบอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีสินค้าคงเหลือในสต๊อกมากเกินไป

ความมีเหตุผล
               หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เมื่อเราเป็นพนักงานหรือลูกจ้างในองค์กรที่เราทำงาน เราอาจถูกฝึกให้พิจารณาเฉพาะเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา แต่เมื่อเป็นผู้ประกอบการ เราต้องมองป่าทั้งป่า มองในมุมสูงเหมือนนก (Bird Eye View) ที่เราจำเป็นต้องใส่ใจในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการผลิต การจัดหาสินค้า วัตถุดิบ การตลาด การขาย การเงิน การจัดการบุคลากร และการจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้าและคู่ค้า ถ้าเรามองไม่เห็นป่าทั้งป่า เราจะไม่อาจคาดการณ์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในการตัดสินใจทางธุรกิจได้เลย

               นอกจากนั้น การตัดสินใจในทางธุรกิจต้องพิจารณาความเป็นเหตุ และผล ให้ชัดเจน เช่น เมื่อเรามีอาการปวดท้องไปพบแพทย์ ต้องถูกซักอาการอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีอาการปวดท้อง เพื่อจะได้ให้การรักษาที่ตรงกับสาเหตุ เช่นเดียวกันกับการกระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ เมื่อยอดขายลดลง ลูกค้าประจำหายไป กำไรจากการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ล้วนแต่เป็นอาการทั้งสิ้น เราต้องพิจารณาว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของอาการดังกล่าว เพื่อไม่ให้ด่วนสรุปตัดสินใจแก้ปัญหาที่ไม่ตรงกับสาเหตุ

การมีภูมิคุ้มกันที่ดี
               หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว เราอาจเริ่มต้นทำธุรกิจในช่วงภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น อะไรก็ดูดีไปหมด จนอาจลืมคิดแผนสำรองไปว่า ถ้าพรุ่งนี้ถ้ามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เราจะรับมือกับเหตุการณ์นั้นอย่างไร ดังนั้น การดำเนินธุรกิจต้องเตรียมพร้อมให้มีสภาพคล่องทางการเงินตลอดเวลา หรือมีแหล่งเงินทุนสำรองที่สามารถนำมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน นอกจากนั้น การสร้างฐานลูกค้าและเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับธุรกิจของเรา

ปัจจัยทั้งสามประการดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความรู้ และคุณธรรม เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สำคัญ กล่าวคือ

เงื่อนไขความรู้
               หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงาน ผู้ประกอบการต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนากระบวนการดำเนินธุรกิจอยู่เสมอ ควรเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างนวัตกรรมของสินค้าหรือการบริ การ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการธุรกิจ เช่น ความรู้ทางการผลิต การตลาด บัญชีการเงิน การจัดการบุคลากร และการจัดการลูกค้าสัมพันธ์และใช้ความรู้เหล่านั้นเป็นพื้นฐานสำคัญในการ ตัดสินใจทางธุรกิจ ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง

เงื่อนไขคุณธรรม
               คือ การยึดถือคุณธรรมต่างๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปัน ฯลฯ ตลอดเวลาที่ประยุกต์ใช้ปรัชญา ผู้ประกอบการควรมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ไม่เอาเปรียบลูกค้า พนักงาน คู่ค้า สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะสังคมชุมชนในละแวกใกล้เคียงที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเป็นองค์กรที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

               ผมไม่อยากให้ “แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเพียงกระแสที่พูดกันด้วยความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และ คิดกันไปว่าเป็นทางสายกลางของผู้ที่มีความสมถะ กระเบียดกระเสียร ใช้จ่ายอย่างจำกัดจำเขี่ย

               แต่การดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง ไม่ฟุ่มเฟือย ด้วยความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี บนเงื่อนไขของการเป็นผู้ที่มีความรู้ คู่คุณธรรม ซึ่งจะทำให้เราสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ผู้เขียน : ดร.พงศ์ศรันย์  พลศรีเลิศ
ที่มา : http://phongzahrun.wordpress.com

9 ลักษณะของผู้นำที่สำเร็จ

9ลักษณะของผู้นำที่สำเร็จ