วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

เริ่มต้นทำธุรกิจ

เริ่มต้นทำธุรกิจ ด้วยแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

      มีหลายท่านที่ปรึกษากับผมว่า “อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง แต่มีเงินทุนไม่มากนัก จะลงทุนทำธุรกิจอะไรดี?” ผมมักจะถามกลับเสมอว่า แล้วตอนนี้มีความสนใจในธุรกิจอะไรอยู่ ทำไมถึงสนใจในธุรกิจนี้ และเรามีความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติของการทำธุรกิจประเภทนี้ดีพอหรือยัง คุยกันไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็มาถึงคำถามที่ผมมักจะถูกถามเสมอว่า “แล้วจะเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างไรดี ?”

               มีตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองมาก มาย และก็มีตัวอย่างอีกมากมายที่ธุรกิจไม่สามารถเติบโตต่อไปได้เกินกว่าช่วงเวลา 2-3 ปีแรก คำถามคือ อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจที่พึ่งเริ่มต้นขึ้นต้องสิ้นสุด ลง

               คำตอบส่วนใหญ่ที่พบได้คือ การขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุน มีต้นทุน ค่าใช้จ่าย สูงกว่ารายได้ เงินทุนสำรองเริ่มหมดไป บางรายนำเงินทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ มีเงินลงทุนจมไปกับสินทรัพย์ที่เกินความพอดีในการทำธุรกิจ

               ผมขอยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการรายหนึ่ง ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากธนาคารในการก่อสร้างอาคารโรงงาน ซื้อเครื่องจักร และเป็นเงินเบิกเกินบัญชี (O/D Over Draft) เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เงินทุนที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมจากธนาคารถูกใช้ไปในการเริ่มต้นธุรกิจตาม แผนธุรกิจที่ได้เสนอธนาคารไว้ แต่ก็มีเงินทุนอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกใช้ไปในการซื้อสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้ เกิดรายได้อย่างคุ้มค่า เช่น รถยนต์ยุโรปหรูราคาแพง การตบแต่งห้องทำงานของผู้บริหารด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตบแต่งราคาแพง ด้วยเหตุผลว่า เพื่อเป็นหน้าตาและสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจ เงินที่ควรถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเงินทุนสำรองในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจที่ยังไม่ มีรายรับมากพอ เหลือลดน้อยลง จำเป็นต้องหากู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ในแต่ละเดือนธุรกิจแห่งนี้ต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงมาก ทั้งที่เป็นดอกเบี้ยของธนาคารและแหล่งเงินทุนอื่น สุดท้ายธุรกิจนี้ต้องปิดตัวลงในช่วงเวลาเพียงแค่ 3 ปี

               ผู้ประกอบการอีกราย มีเงินทุนอยู่จำนวนหนึ่ง ได้ลงทุนทำธุรกิจประเภทเดียวกันกับผู้ประกอบการรายแรก แต่ใช้วิธีการเช่าอาคารเพื่อทำเป็นโรงงาน และเช่าซื้อเครื่องจักร แทนการใช้เงินลงทุนซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ ซึ่งทำให้เงินทุนที่มีอยู่ไม่จมไปกับการลงทุนในช่วงเริ่มต้น  และค่อยๆ ดำเนินธุรกิจไปทีละเล็กละน้อยอย่างระมัดระวัง ตามกำลังเงินทุนที่มี ผ่านมาแล้วเป็นเวลาสิบกว่าปี วันนี้ผู้ประกอบการรายนี้ มีที่ดินและโรงงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง มีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ และมีรายได้ปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท





อะไรคือความแตกต่างของผู้ประกอบการทั้งสองราย ?

               ทุกท่านคงเคยได้ยิน ได้อ่าน “แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความ เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

               ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชา ชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

               ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงปรับปรุงพระราชทานเป็นที่มาของนิยาม “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” ที่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยความ “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” บนเงื่อนไข “ความรู้” และ “คุณธรรม”

               การเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการดำเนินธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท

ความพอประมาณ
               หมายถึง ความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น เมื่อเราเริ่มต้นทำธุรกิจ เราอาจคิดว่าต้องทำให้ใหญ่ ทำให้อลังการ ถ้าอยากจะรวย อยากจะดูดีในสายตาของลูกค้า หรือ เพื่อนสนิท ญาติพี่น้อง แต่ในความใหญ่โตอลังการนั้น เป็นการลงทุนที่เกินตัวหรือไม่  เราต้องไตร่ตรองว่าอะไรคือความพอดี เช่น การซื้อสินค้า หรือวัตถุดิบ ต้องคำนึงถึงความพอดี ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป เราต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้า หรือ วัตถุดิบอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีสินค้าคงเหลือในสต๊อกมากเกินไป

ความมีเหตุผล
               หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เมื่อเราเป็นพนักงานหรือลูกจ้างในองค์กรที่เราทำงาน เราอาจถูกฝึกให้พิจารณาเฉพาะเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา แต่เมื่อเป็นผู้ประกอบการ เราต้องมองป่าทั้งป่า มองในมุมสูงเหมือนนก (Bird Eye View) ที่เราจำเป็นต้องใส่ใจในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการผลิต การจัดหาสินค้า วัตถุดิบ การตลาด การขาย การเงิน การจัดการบุคลากร และการจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้าและคู่ค้า ถ้าเรามองไม่เห็นป่าทั้งป่า เราจะไม่อาจคาดการณ์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในการตัดสินใจทางธุรกิจได้เลย

               นอกจากนั้น การตัดสินใจในทางธุรกิจต้องพิจารณาความเป็นเหตุ และผล ให้ชัดเจน เช่น เมื่อเรามีอาการปวดท้องไปพบแพทย์ ต้องถูกซักอาการอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีอาการปวดท้อง เพื่อจะได้ให้การรักษาที่ตรงกับสาเหตุ เช่นเดียวกันกับการกระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ เมื่อยอดขายลดลง ลูกค้าประจำหายไป กำไรจากการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ล้วนแต่เป็นอาการทั้งสิ้น เราต้องพิจารณาว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของอาการดังกล่าว เพื่อไม่ให้ด่วนสรุปตัดสินใจแก้ปัญหาที่ไม่ตรงกับสาเหตุ

การมีภูมิคุ้มกันที่ดี
               หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว เราอาจเริ่มต้นทำธุรกิจในช่วงภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น อะไรก็ดูดีไปหมด จนอาจลืมคิดแผนสำรองไปว่า ถ้าพรุ่งนี้ถ้ามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เราจะรับมือกับเหตุการณ์นั้นอย่างไร ดังนั้น การดำเนินธุรกิจต้องเตรียมพร้อมให้มีสภาพคล่องทางการเงินตลอดเวลา หรือมีแหล่งเงินทุนสำรองที่สามารถนำมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน นอกจากนั้น การสร้างฐานลูกค้าและเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับธุรกิจของเรา

ปัจจัยทั้งสามประการดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความรู้ และคุณธรรม เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สำคัญ กล่าวคือ

เงื่อนไขความรู้
               หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงาน ผู้ประกอบการต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนากระบวนการดำเนินธุรกิจอยู่เสมอ ควรเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างนวัตกรรมของสินค้าหรือการบริ การ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการธุรกิจ เช่น ความรู้ทางการผลิต การตลาด บัญชีการเงิน การจัดการบุคลากร และการจัดการลูกค้าสัมพันธ์และใช้ความรู้เหล่านั้นเป็นพื้นฐานสำคัญในการ ตัดสินใจทางธุรกิจ ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง

เงื่อนไขคุณธรรม
               คือ การยึดถือคุณธรรมต่างๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปัน ฯลฯ ตลอดเวลาที่ประยุกต์ใช้ปรัชญา ผู้ประกอบการควรมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ไม่เอาเปรียบลูกค้า พนักงาน คู่ค้า สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะสังคมชุมชนในละแวกใกล้เคียงที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเป็นองค์กรที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

               ผมไม่อยากให้ “แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเพียงกระแสที่พูดกันด้วยความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และ คิดกันไปว่าเป็นทางสายกลางของผู้ที่มีความสมถะ กระเบียดกระเสียร ใช้จ่ายอย่างจำกัดจำเขี่ย

               แต่การดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง ไม่ฟุ่มเฟือย ด้วยความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี บนเงื่อนไขของการเป็นผู้ที่มีความรู้ คู่คุณธรรม ซึ่งจะทำให้เราสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ผู้เขียน : ดร.พงศ์ศรันย์  พลศรีเลิศ
ที่มา : http://phongzahrun.wordpress.com

9 ลักษณะของผู้นำที่สำเร็จ

9ลักษณะของผู้นำที่สำเร็จ