วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

กฏทั้ง 15 ข้อของการพัฒนาจิตแบบไม่สวยหรูแต่ใช้ได้จริง


1. ยอมรับในความเลวของตน อย่างเป็นกลาง เพราะเราไม่อาจแก้ไขจิตใจให้ดีขึ้นได้เลย หากมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นปัญหา กิเลสตัวใดที่มีมาก จงลากไส้มันออกมาให้เห็นกันจะๆ จากนั้นจึงเฝ้าระวังไม่ให้มันออกมาวาดลวดลายจนทำให้เรา และผู้อื่นเดือดร้อน

2. ตั้งใจว่า จากนี้เป็นต้นไป จะจัดการกับความชั่วร้ายของตนเอง ไม่จำเป็นต้องรีบจัดการ แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน สำรวจตนเองทุกวันว่า จิตใจของเราได้รับการขัดเกลาไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว จะต้องทำทุกวัน ดีขึ้นทุกวัน ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องเปรียบเทียบตัวเองกับใคร ขอให้รู้ในความเลวของตนแล้วขัดเกลาไปเรื่อยๆ ทำเท่าที่ทำได้ อย่าให้เกิดความอึดอัด ขอให้ทำแต่พอดี แต่ต้องทำตลอดไป

3. ระหว่างที่จิตใจยังคิดชั่ว ยังควบคุมให้คิดดีไม่ได้ ให้ควบคุมกาย และวาจา ด้วยการถือศีล เพราะศีลเปรียบเหมือนเกาะป้องกันไม่ให้เราไปเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น ในขั้นตอนนี้ อย่าเพิ่งไปสนใจว่า จิตจะดีหรือไม่อย่างไร ในขั้นแรก ควบคุมการกระทำ และคำพูดของเราให้ได้ก่อนเป็นพอ

4. ยุติการวิพากษณ์วิจารณ์ผู้อื่นโดยเด็ดขาด เพราะการกระทำเช่นนั้น เป็นการยั่วกิเลสของเราให้พุ่งพลาน เป็นการป้อนอาหารให้ความเลวของตนเองเติบโต เขาจะดี จะเลวอย่างไรเป็นเรื่องของเขา เราสนใจในความดีเลวของตนเองเป็นพอ

5. เชื่อในกฏแห่งกรรมอย่างเคร่งครัด ต้องเข้าใจว่า กรรมทุกอย่างย่อมให้ผลเสมอ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ย่อมส่งผลอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงไม่มีความบังเอิญอยู่บนโลก ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราทำสิ่งใดย่อมได้รับผลกรรมตามนั้น อย่าพยายามทำความเลวให้เกิดขึ้น พยายามทำแต่ความดีให้มากที่สุด

6. พยายามคิดว่าทุกคนคือเพื่อน คือคนที่เสมอเท่าเทียมกับเรา ให้มองผู้อื่นด้วยความเมตตาให้มากที่สุด ทำลายทัศนคติในการแบ่งเขา แบ่งเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

7. เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้น ขอให้น้อมเข้ามาพิจารณาว่า ทุกอย่างล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรนอกเหนือจากนั้น ทั้งเรื่องของความรู้สึกที่เป็นนามธรรม หรือเรื่องของวัตถุธาตุที่จับต้องได้

8. จงทำความเข้าใจว่า ชีวิตมนุษย์ ล้วนต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย ทำความเข้าใจให้มากว่า เราไม่ได้อยู่บนโลกนี้ตลอดไป วันหนึ่ง เราต้องตาย แล้วเราจะเอาอะไรไปไม่ได้ นอกจาก ความดี และความเลวที่ทำไว้

9. ทำความเข้าใจในสภาพความจริงของการเวี่ยนว่ายตายเกิด โดยขอให้มีความเข้าใจอันแน่นหนาว่า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุอรหันต์ เราก็ยังต้องเวี่ยนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุด ต้องมีชีวิตทุกข์บ้าง สุขบ้าง วนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป และนรก สวรรค์ ล้วนเป็นภพภูมิที่มีอยู่จริง

10. พยายามสละสิ่งของ วัตถุ เพื่อสร้างอุปนิสัยของความเสียสละ หมั่นบริจาคทาน สงเคราะห์ผู้อื่นอยู่เสมอ ขอให้คิดว่าสิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องที่ว่างๆ ค่อยทำ ให้รู้ว่าเป็นขั้นตอนอันสำคัญที่จะช่วยให้เราเป็นคนไม่ยึดมั่นถือมัน และมีจิตใจเมตตาง่ายขึ้น

11. หมั่นทำจิตใจของตนให้สงบนิ่งอยู่เสมอ ด้วยการฝึกสมาธิ ขอให้คิดว่า ความสงบนี้เป็นเรื่องจำเป็นของชีวิต และต้องเข้าใจว่า จิตใจจะสงบได้ จิตของเราจำเป็นต้องได้รับการฝึก ความสงบไม่อาจเกิดขึ้นมาเองได้ ดังนั้น การทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาจิตของเราให้ก้าวหน้า

12. เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับชีวิต พยายามน้อมมาสอนใจตนว่า ความทุกข์เกิดจากอะไร จนกระทั้งเห็นจริงว่า ความทุกข์นั้นมีที่มาจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ขอให้น้อมเข้ามาพิจารณาซ้ำๆ อยู่เสมอ จนกระทั้งเป็นที่ประจักษ์แก่ตนเองในความจริงดังกล่าว

13. หมั่นไหว้พระ สวดมนต์ เพื่อให้จิตใจของตนเองยึดมั่นในพระรัตนตรัย ไม่ลังเลสงสัยในคำสั่งสอน ขอให้คิดว่า เราจะดำเนินชีวิตตามแนวทางที่ประเสริฐที่สุด นั่นคือใช้ภูมิปัญญาของบุคคลที่ฉลาดที่สุดในโลก ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้า ท่านว่าอย่างไร เราทำอย่างนั้น ปรับทัศนคติของเราให้ตรงกับท่านอย่าคิดหาทางลัดด้วยตนเองเด็ดขาด ขอให้พาตัวเองไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดี คบคนดี ไม่คบคนพาล อ่านหนังสือที่ดี เสพความรู้ที่ดี ที่เพิ่มพูนศีลธรรม อย่ารับบุคคล สื่อ หรือสิ่งเร้าใดๆ ที่เป็นการยั่วกิเลสให้เพิ่มพูนเด็ดขาด

14. เมื่อจำเป็นต้องแก้ปัญหา ขอให้แก้ปัญหาภายในก่อน นั่นคือแก้ที่ตนเอง ขอให้เปลี่ยนตนเองก่อน มองความผิดของตนเองก่อน เมื่อเกิดสิ่งเข้ามากระทบ ขอให้เพ่งเล็งมาที่ความผิดของตนเอง อย่าเพ่งเล็งไปที่ความผิดของผู้อื่นเด็ดขาด ตรงนี้จะทำให้ไม่เกิดความเกลียดชังในจิตใจ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ตนเองรู้จักผิดชอบชั่วดี มีความเมตตาต่อผู่อื่น รู้จักละอายต่อบาปกรรม

15. เมื่อต้องการวัดผลการปฏิบัติของตน ขอให้วัดที่ชีวิตประจำวัน คือดูว่า ตนเองเป็นคนดีขึ้นหรือเปล่า ตรงนี้ต้องระวัง อย่าคิดเข้าข้างตนเองเด็ดขาด ขอให้มองอย่างเป็นกลางด้วยความสุจริตใจ ให้สำรวจดูว่า โลภ โกรธ หลงน้อยลงแค่ไหน มีเมตตามากขึ้นแค่ไหน ให้อภัยได้มากแค่ไหน ขอให้ใช้ตรงนี้เป็นเครื่องวัดความดีเลวของตนเป็นสำคัญ ส่วนด้านปัญญานั้น ขอให้วัดว่า ทุกวันนี้มีทุกข์น้อยลงหรือไม่อย่างไร ถ้าทุกข์มากแปลว่า เรายังไม่เข้าใจโลก ถ้าทุกข์น้อย แปลว่าเราเริ่มมีความเข้าใจต่อโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น ขอให้ยอมรับไปตรงๆว่า สุขหรือทุกข์ ล้วนเกิดขึ้นจากปัญญาของเรา ไม่ได้เกิดจากผู้อื่น และไม่มีใครสามารถยัดเยียดความสุขความทุกข์แก่เราได้นอกจากตัวของเราเอง

กฏทั้ง 15 ข้อนี้คือสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำในเบื้องตน เป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานความจริงซึ่งสามารถทำได้ถ้ามีความตั้งใจ สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาจิตเพื่อลดทอน หรือยุติชาติภพ ถ้าจะพูดถึงการทำสมถะ ผู้ที่ทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ไปทำสมถะไม่นาน จิตก็จะรวมใหญ่ ทำให้เกิดฌานได้อย่างง่ายดาย ต่อเมื่อไปทำวิปัสสนา จิตก็จะพิจารณาความจริงได้อย่างแยบคาย เพราะเป็นจิตที่คู่ควรกับการเจริญปัญญา ในการปฏิบัติทั้ง 15 ข้อนี้ หากใครทำได้ด้วยใจที่เบิกบาน ก็สามารถพูดได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่บุคคลผู้นั้นจะบรรลุเป็นอริยบุคคลในชาติปัจจุบัน...

พศิน อินทรวงค์













9 ลักษณะของผู้นำที่สำเร็จ

9ลักษณะของผู้นำที่สำเร็จ